insurance-agents-broker-นายหน้าประกันภัย-นายหน้าประกันภัย

นายหน้าประกันภัย กับ ตัวแทน แตกต่างกันอย่างไร

นายหน้าประกันภัย กับ ตัวแทน

เมื่อพูดถึงตัวแทน และ นายหน้าประกันภัย คนทั่วไปส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนๆ เดียวกัน ซึ่งในความจริงแล้วตัวแทนและนายหน้าประกันภัยไม่ใช่คนๆ เดียวกัน แม้ว่าการทำงานและหน้าที่อาจจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง ส่วนที่คล้ายคลึงกันของตัวแทนและนายหน้าประกันภัยก็ คือ เป็นผู้ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยง หรือ เป็นตัวกลางในการประสานงานให้เกิดการทำประกันขึ้นระหว่างผู้เอาประกันภัยและ บริษัทประกันภัย

ความแตกต่างระหว่างตัวแทนและนายหน้าประกันภัย

  • ตัวแทนประกันภัย จะเป็นผู้ที่มีสังกัดอยู่ในบริษัทประกันภัยต่างๆ และ ทำหน้าที่เสนอขายประกันของบริษัทตนเอง ให้กับประชาชนที่สนใจ
  • นายหน้าประกันภัยจะไม่ใช่ผู้ที่มาจากบริษัทประกันภัยโดยตรง ไม่มีสังกัดในการทำงาน แต่ เป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือชี้ช่องการทำประกันภัยกับบริษัทต่างๆ หรือ ทำหน้าที่แทนผู้เอาประกันภัยจนเสร็จสิ้นกระบวนการ

สามารถเป็นทั้งตัวแทนและ นายหน้าประกันภัย พร้อมกันได้หรือไม่

กฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นตัวแทน หรือนายหน้าประกันภัยได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าเลือกเป็นตัวแทนก็สามารถเป็นได้ทั้งตัวแทนประกันชีวิตและตัวแทนประกันวินาศภัย และในทำนองเดียวกัน ถ้าเลือกเป็นนายหน้าก็สามารถเป็นได้ทั้งนายหน้าประกันชีวิตและนายหน้าประกันวินาศภัย

คำจำกัดความระหว่าง ตัวแทน และ นายหน้าประกันภัย ดังนี้

  1. ตัวแทนประกันภัย (Insurance Agents) จะเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ทำหน้าที่แทนบริษัทประกันที่สังกัดอยู่ในการชักชวน และ นำเสนอขายสินค้า (กรมธรรม์) หรือ อาจจะเรียกว่าเป็นพนักงานของบริษัทประกันก็ได้ เพราะตัวแทนประกันนั้นจะมีสังกัดที่แน่นอนว่าเป็นตัวแทนของบริษัทประกันใด อาจเป็นได้มากกว่าหนึ่งบริษัทได้ หากได้รับความยินยอมจากบริษัทแรก
  2. นายหน้าประกันภัย (Insurance Brokers) นายหน้าประกันภัย หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโบรกเกอร์ คือ คนกลางอิสระ เป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทำหน้าที่แทนประชาชนที่ต้องการซื้อประกันภัย ในการคัดเลือกบริษัทประกันที่มีสินค้า (กรมธรรม์) ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด โดยนายหน้าประกันภัยนั้นสามารถที่จะชี้ช่องแนะนำประกันของบริษัทใดก็ได้ และสามารถขายได้อย่างอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับบริษัทประกันแห่งใด สำหรับค่าตอบแทนที่ได้รับ จะได้รับค่าคอมมิชชั่นจากบริษัทประกันภัย ตามจำนวนที่นายทะเบียนประกาศกำหนดไว้ในแต่ละประเภทของการประกันภัยซึ่งไม่เท่ากัน

เราควรเลือกเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย แบบไหนดี?

สำหรับผู้ที่สนใจเป็น ตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ก่อนอื่นต้องคิดพิจารณา และ ถามตัวเองก่อนว่าชอบการทำงานแบบไหน หากเลือกที่จะเป็นคนขายประกันแบบอิสระ ก็ต้องเลือกสอบเป็นนายหน้าประกันภัย และต้องเลือกอีกว่าจะเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย หรือนายหน้าประกันชีวิต ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้จะเป็นใบอนุญาตคนละใบกัน หากว่าอยากขายได้ทั้งประกันวินาศภัยและประกันชีวิตก็ต้องสอบให้ผ่านทั้ง 2 ใบ

ทำอย่างไรให้ได้รับ ใบอนุญาต ตัวแทนนายหน้าประกันภัย

  1. เมื่อตัดสินใจได้แล้วก็ไปสอบให้ได้ใบอนุญาตจากสำนักงาน คปภ. ( รายละเอียดการสมัครเป็นตัวแทนประกันชีวิต / ตัวแทนประกันวินาศภัย / นายหน้าประกันชีวิต / นายหน้าประกันวินาศภัย ) ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะบุคคลธรรมดา
  2. อบรมขอรับใบอนุญาต ผลอบรมมีอายุ 1 ปี สามารถอบรมก่อน หรือ สอบให้ผ่านก่อนก็ได้
  3. หลังจากสอบผ่านขั้นตอนต่อไปคือ ติดต่อขอขึ้นทะเบียนเป็นนายหน้าประกัน โดยยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้ที่สำนักงาน คปภ.
  4. จากนั้นจึง ติดต่อไปยังบริษัทประกันที่สนใจ เพื่อขอเป็น นายหน้าขายประกัน ซึ่งสามารถติดต่อบริษัทประกันได้หลายๆ แห่ง เพื่อจะได้มีสินค้าในมือหลากหลายให้ลูกค้าได้ตัดสินใจเลือกซื้อ ปัจจุบัน สามารถติดต่อสมัคร กับ โบรคเกอร์ประกันภัยได้อีกช่องทาง แต่หากสนใจเป็น ตัวแทนขายประกันมากกว่า อันดับแรก คือ ต้องเลือกบริษัทประกันที่สนใจจะเป็นตัวแทนขายก่อน จากนั้นเข้ารับการอบรมและสอบให้ได้ใบอนุญาตจากสำนักงาน คปภ. หากสอบผ่านแล้ว ต้องติดต่อบริษัทประกันที่สมัครเป็นตัวแทนไว้ เพื่อให้บริษัทยื่นขอรับใบอนุญาตให้ เนื่องจากในการขอรับใบอนุญาตจะต้องมีหนังสือแสดงความต้องการของบริษัทรับเป็นตัวแทนด้วย

คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันชีวิต (วินาศภัย)

ตัวแทน/นายหน้าประกันชีวิตตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัย
1. บรรลุนิติภาวะ1. บรรลุนิติภาวะ
2. มีภูมิลำเนาในประเทศไทย2. มีภูมิลำเนาในประเทศไทย
3. ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือ จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ3. ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือ จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
4. ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต เว้นแต่ได้พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต4. ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต เว้นแต่ได้พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต
5. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย5. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
6. – ไม่เป็นนายหน้าประกันชีวิต (กรณีขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต)
– ไม่เป็นตัวแทนประกันชีวิต (กรณีขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต)
6. – ไม่เป็นนายหน้าประกันวินาศภัย (กรณีขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัย)
– ไม่เป็นตัวแทนประกันวินาศภัย (กรณีขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย)
7. ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตในระยะเวลาห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต7. ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัยในระยะเวลาห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต
8. ได้รับการศึกษาวิชาการประกันชีวิตจากสถาบันการศึกษาที่นายทะเบียนประกาศกำหนด หรือ สอบความรู้เกี่ยวกับการประกันชีวิตได้ตามหลักสูตรที่นายทะเบียนประกาศกำหนด8. ได้รับการศึกษาวิชาการประกันวินาศภัยจากสถาบันการศึกษาที่นายทะเบียนประกาศกำหนด หรือ สอบความรู้เกี่ยวกับการประกันวินาศภัยได้ตามหลักสูตรที่นายทะเบียนประกาศกำหนด
9. ผ่านการอบรมหลักสูตรขอรับใบอนุญาตตามประกาศสำนักงาน คปภ. (เฉพาะขอรับใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิต)9. ผ่านการอบรมหลักสูตรขอรับใบอนุญาตตามประกาศสำนักงาน คปภ. (เฉพาะขอรับใบอนุญาตตัวแทนประกันวินาศภัย)

อายุใบอนุญาตเป็น ตัวแทน/นายหน้า ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย

ใบอนุญาตที่ออกครั้งแรก มีอายุ 1 ปี ยกตัวอย่าง เช่น ใบอนุญาตออกเมื่อ วันที่ 2 มกราคม 2553 จะหมดอายุวันที่ 1 มกราคม 2554 ค่าธรรมเนียมขอรับใบอนุญาต 300 บาท
ต่ออายุใบอนุญาต สามารถต่อล่วงหน้า 2 เดือนก่อนใบอนุญาตหมดอายุ
ต่อครั้งที่ 1 มีอายุ 1 ปี ค่าธรรมเนียมต่ออายุ 200 บาท
ต่อครั้งที่ 2 มีอายุ 1 ปี ค่าธรรมเนียมต่ออายุ 200 บาท
ต่อครั้งที่ 3 และครั้งต่อ ๆ ไป มีอายุ 5 ปี ค่าธรรมเนียมต่ออายุ 800 บาท
หมายเหตุ บนหน้าบัตรใบอนุญาต จะมีข้อมูล ชื่อ-นามสกุล ภาพถ่าย ของผู้ถือใบอนุญาต หมายเลขประจำตัวประชาชน เลขที่ใบอนุญาต วันที่ออกใบอนุญาต วันที่ใบอนุญาตหมดอายุ

เปลี่ยนจากตัวแทนเป็นนายหน้าประกันภัย ได้หรือไม่

หากท่านยื่นขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันภัย กับ สำนักงาน คปภ.แล้วใบอนุญาตตัวแทนฯ จะสิ้นอายุทันที หากใบอนุญาตการเป็นตัวแทนฯ ยังไม่หมดอายุท่านต้องดำนเนินการ ขอลาออกจากต้นสังกัดก่อน เมื่อได้รับการอนุมัติให้ลาออก ถือว่าพ้นสภาพการเป็นตัวแทนฯ ท่านจึงดำเนินการยื่นขอรับใบอนุญาต เป็นนายหน้าประกันภัยได้ที่สำนักงาน คปภ.

สรุป

ไม่ว่าจะเป็นตัวแทน หรือนายหน้าประกันภัยก็เป็นคนกลางในการมอบความคุ้มครอง การป้องกันความเสี่ยงให้กับลูกค้า สามารถสร้างรายได้ เป็นอาชีพ ที่ช่วยเหลือผู้คนได้เช่นเดียวกัน ส่วนจะเลือกแบบไหนขึ้นอยู่ กับ ความต้องการส่วนบุคคล และตอบสนองความต้องการลูกค้าได้

หากใครสนใจ หารายได้ จากธุรกิจ นายหน้าประกันภัย ต้องการที่ปรึกษา ช่วยแนะนำ ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

Facebook
Twitter
Email

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *